รู้จัก 3D Printer ระบบเส้น FDM ซื้อรุ่นไหนดี? ใช้ทำอะไรได้บ้าง ฉบับปรับปรุง 2024

สวัสดีทุกท่าน ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องด้วยปัจจุบันนี้เครื่องพิมพ์ระบบนี้ได้มีราคาที่ต่ำลงจนคนทั่วไปจับต้องได้ และมีความปลอดภัยที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าราคาของเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM จะถูกลง แต่เทคโนโลยีนั้นก็ไม่ได้ถูกลดลงไปเลยแม้แต่น้อย และกลุ่มผู้ใช้งานเองนั้นก็มีหลากหลายหลุ่มมากขึ้น ตั้งแต่นักเรียนประถมตัวน้อยๆ ไปจนถึงระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเครื่องพิมพ์ระบบนี้ก็จะเป็นตัวเลือกแรกๆ ของใครหลายๆ คน ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเครื่องพิมพ์ระบบนี้ และการเลือกใช้งานกัน

ประวัติความเป็นมาอย่างไง?
FDM 3D printer (Fused Deposition Modeling 3D Printer) หรือเครื่องพิมพ์สามมิติระบบฉีดเส้นพลาสติกที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน และเป็นระบบที่กลายเป็นรูปแบบเริ่มต้นของเครื่องพิมพ์สามมิติไปแล้ว แต่รู้หรือไม่? เครื่องพิมพ์สามมิติเครื่องแรกที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นไม่ได้เครื่องระบบ FDM เแต่เป็นระบบ SLA ต่างหากที่เกิดขึ้นก่อน SLA 3D Printer คืออะไร
โดยเครื่องพิมพ์ระบบ FDM เกิดขึ้นโดยคุณ S. Scott Crump ในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเขาได้ไอเดียนี้ในการสร้างเครื่องพิมพ์สามมิติ มาจากปืนยิงกาวที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แนวคิดสำหรับ FDM เกิดขึ้นที่ Crump เมื่อเขาสร้างกบของเล่นสำหรับลูกสาวโดยใช้ปืนกาว และส่วนผสมของโพลีเอทิลีน และขี้ผึ้งเทียน Scott ตระหนักว่าเขาสามารถใช้แนวคิดเดียวกันนี้เพื่อสร้างวัตถุสามมิติได้ และด้วยเหตุนี้ FDM จึงถือกำเนิดขึ้น

S. Scott Crump ผู้ให้กำเนิดเครื่องพิมพ์ระบบ FDM

ในปีถัดมา Scott ได้ก่อตั้งบริษัทเครื่องพิมพ์สามมิติขึ้นมาในปี 1989 พร้อมจำหน่ายเครื่องพิมพ์สามมิติแบบ FDM เครื่องแรกขึ้นมา โดยเครื่องรุ่นแรกนั้นถูกใช้งานด้านการฉีดขึ้นรูปแม่พิมพ์พลาสติกขึ้นมาสำหรับงานอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วกว่าถึง 35 ปี บริษัทของ Scott ก็ยังคงเป็นเบอร์ต้นของโลกของวงการเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM และยังคงเป็นผู้นำด้านเครื่องพิมพ์สามมิติอยู่จนถึงปัจจุบัน นั่นคือ Stratasys

FDM 3D Printer คืออะไร ?

การทำงานของเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ

ระบบเส้นพลาสติก หรือ FDM มาจากคำ Fused Deposition Modeling หรือที่หลายๆ คนเรียกระบบนี้ว่า FFF (Fused Filament Fabrication) การหลอมเส้นพลาสติกแล้วฉีดขึ้นรูป หลักการทำงานคือเครื่องจะทำความร้อน ละลายเส้นพลาสติกที่เรียกว่าฟิลาเมนต์ Filament โดยพลาสติกที่ถูกหลอมละลายเป็นของเหลว ไหลออกมาที่หัวฉีด เครื่องจะเคลื่อนหัวฉีดเพื่อวาดรูปร่าง Cross Section ของโมเดล 3มิติ ขึ้นมาทีละชั้น เมื่อวาดชั้นหนึ่งเสร็จแล้วเครื่องจะยกหัวฉีดขึ้นพิมพ์ชั้นต่อไป ทำไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นชิ้นงาน โดยมากแล้วโมเดล 3มิติชิ้นหนึ่งจะมีมากถึง 100 Layer – 10,000Layer กันเลยทีเดียว

จะเห็นว่าระบบ FDM ก็เหมือนกับการใช้ปืนกาวนั้นเอง โดยละลายพลาสติกแล้วฉีดออกมาวาดขึ้นรูปชั้นต่อชั้น ระบบนี้เป็นที่นิยมเพราะดูแลรักษาง่าย และ Filament ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไปมีหลากหลาย

หมายเหตุ เส้นพลาติกที่มาใช้ที่นิยมจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.75mm โดยมีชนิดให้เลือกมากกว่า 20ชนิด แต่ชนิดที่นิยมใช้มากที่สุดคือ PLA, ABS ขนาดหัวฉีดที่นิยมมากที่สุดคือ 0.4mm 

หลักการทำงานของ FDM Printer แบบสองหัวฉีด
หลักการทำงานของ FDM Printer เริ่มจากเครื่องทำความร้อนที่หัวฉีด ละลายเส้นพลาติกที่ออกมาจากม้วน แล้ววาดรูปร่างชิ้นงานขึ้นทีละชั้น จนออกมาเป็นรูปร่าง 3มิติ
จากรูปเป็น Timelapse การขึ้นรูปของชิ้นงาน 3D Printing ระบบ FDM เร่งเวลาขึ้น 1000เท่า

FDM มีกี่ประเภท?

โดยทั่วไปการทำงานของเครื่องพิมพ์สามมิตินั้นจะใช้การฉีดเส้นพลาสติก และหลอมละลายด้วยความร้อน แล้วค่อยๆ ขึ้นรูปทีละชั้นเหมือนๆ กัน แต่ความสามารถในการขึ้นรูปของแต่ละเครื่องนั้นจะขึ้นอยู่ที่สเปค และวัสดุของหัวพิมพ์เป็นหลัก ดังนั้นการแบ่งประเภทเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM เราจะแบ่งตามลักษณะโครงสร้าง และการเคลื่อนที่ของเครื่องนั้นๆ ดังนี้

1.ระบบ Catersian

ระบบนี้เป็นระบบยอดนิยมที่สุดระบบหนึ่ง เนื่องจากจะเป็นระบบที่เข้าใจง่ายที่สุด โดยอธิบายง่ายๆก็คือ ระบบนี้การเคลื่อนที่ของหัวฉีดจะเคลื่อนที่ตามแนวแกน X Y Z ตามปกติ โดยที่แต่ละแกนนั้นจะมีมอเตอร์แยกกันทำงานในแต่ละแกน และหัวฉีดจะเคลื่อนที่ไปในแต่ละแกนตามโครงสร้างของเครื่อง เช่น หากมีการเคลื่อนที่ในแนวแกน X หัวฉีดก็จะทำการเคลื่อนที่ตามรางลูกปืนของแกน X เท่านั้น โดยการเคลื่อนของระบบนี้จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทั้งหมดนั่นเอง

เครื่องระบบ Cartesian นั้นอาจจะมีการวางมอเตอร์ และรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่พื้นฐานก็ยังจะเป็นหลักการเดิมของเครื่องระบบรางลูกปืนตามแบบ catesian โดยจะขอยกตัวอย่างแบบต่างๆ เครื่องระบบ Cartesian ให้เห็นภาพดังนี้

Retilinear หรือแบบโครงสี่เหลี่ยม ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเครื่องเป็นตู้สี่เหลี่ยม มีทั้งแบบตู้ปิด และเครื่องเปิดโล่ง เป็นระบบที่ค่อนข้างมั่นคงแต่จะมีชิ้นส่วนที่ค่อนข้างเยอะ เช่น Flashforge Guider2s, Ultimaker S3, Makerbot replicator+

Bed Slinger หรือแบบถาดเลื่อน โดยเครื่องจะวางให้ฐานพิมพ์ของเครื่องนั้นอยู่ในแนวแกน Y และฐานพิมพ์จะทำการวิ่งไปมาในแนวแกน Y ตลอดที่มีการพิมพ์งาน ระบบนี้ชิ้นส่วนจะน้อยกว่าแบบอื่น และดูแลง่าย ราคาถูก แต่คุณภาพงานจะคุมยากกว่าแบบอื่น เพราะฐานจะเคลื่อนที่ตลอดเวลาเลยส่งผลให้งานเกิดการสั่นไหวเวลาพิมพ์นั่นเอง เช่น Prusa i3, Flashforge Adventurer4,Creality Ender Series

ข้อดี : พิมพ์งานได้อย่างแม่นยำ ราคาถูก เพราะโครงสร้างไม่ซับซ้อนจนเกินไป โครงสร้างเข้าใจง่าย ทำให้ซ่อมบำรุง หรือปรับแต่งได้ง่าย
ข้อเสีย : โครงสร้างใหญ่กว่าพื้นที่พิมพ์ และมีน้ำหนักมาก เคลื่อนที่ได้ค่อนข้างช้า

2.ระบบ CoreXY
ระบบนี้ โดยการเคลื่อนที่ของหัวพิมพ์จะแบบแนวทะแยง โดยมอเตอร์ตัวนึงจะควบคุมการเคลื่อนแนว -X -Y และอีกตัวจะเคลื่อนที่แนว +X +Y ระบบนี้จะมีการหน่วงของการเคลื่อนเปลี่ยนแนวแกนที่ต่ำมากๆ ทำให้สามารถเร่งความเร็วของเครื่องได้มากกว่า 3 เท่าโดยที่คุณภาพงานยังคงเท่าเดิม เช่น Flashforge Adventurer 5M Series,Bambulab P1 Series

หลักการทำงานของCoreXY

 

 

ข้อดี : พิมพ์งานได้เร็วมากๆ และได้ชิ้นงานที่มีความแม่นยำ พื้นที่พิมพ์ใหญ่
ข้อเสีย : ชิ้นส่วนต่างๆจะซับซ้อนกว่าแบบ Catersian ทำให้การซ่อมบำรุงทำได้ยากกว่า เครื่องจะกินไฟมากกว่า

3.ระบบ Delta

ระบบนี้การเคลื่อนที่ของแนวแกนจะไม่ใช่ X Y Z แต่จะเคลื่อนที่ในแนวตั้งในแนว I J K แทน ซึ่งโครงของตัวเครื่องจะมี 3 เสา มอเตอร์จะถูกติดตั้งอยู่ตามแต่ละเสา และดึงสายพานขึ้นลงประสานกันเพื่อให้หัวฉีดเคลื่อนที่ให้ถูกต้องตามทิศทางที่กำหนดไว้ เครื่องระบบนี้เริ่มได้รับความนิยมที่ลดลงมาก เนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องระบบนี้ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังมีพื้นที่การพิมพ์ที่ค่อนข้างจำกัดมากเมื่อเทียบกับระบบอื่น

ข้อดี : พิมพ์งานในส่วนของเส้นโค้งได้เรียบเนียนกว่าระบบอื่นๆ พิมพ์งานได้สูงมากๆ
ข้อเสีย : ซ่อมยาก พื้นที่พิมพ์จะเล็ก

4. ระบบ SCARA

ระบบ SCARA หรือระบบ Robotic ระบบนี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากระบบนี้จะใช้การทำงานของแขนหุ่นยนต์มาเป็นพื้นฐานในการสร้างเป็นเครื่องพิมพ์สามมิติ ส่วนมากเครื่องพิมพ์ประเภทนี้จะถูกใช้ในโรงงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ทำให้ระบบของเครื่องนี้จะดูแปลกตามากๆ

ข้อดี : มีความแม่นยำสูงมาก เหมาะกับการพิมพ์งานอุตสาหกรรม พิมพ์งานได้เร็ว
ข้อเสีย : ระบบซับซ้อนกว่าเครื่องพิมพ์ทุกประเภท

จุดเด่น จุดด้อยของ 3D Printer FDM

จุดเด่น

1.ราคาถูก

ในปัจจุบันเครื่องพิมพ์ระบบ FDM นั้นได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ในตลาดเกิดการแข่งขันกันสูงมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้ราคาถูกลง เครื่องพิมพ์ระบบ FDM นั้นได้แฝงอยู่เกือบทุกสายงาน ตั้งแต่ผู้ใช้งานทั่วไป สถานศึกษา จนถึงในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เหล่าผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิตินั้นต้องแข่งขันกันกันอย่างดุเดือดทั้งราคา และคุณภาพ และเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานเฉพาะทางให้มากขึ้นไปอีก เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกสายงาน

2. วัสดุที่หลากหลาย

นอกจากวัสดุถูก แล้วยังมีตัวเลือกให้เลือกอีกมากมายหลากหลายชนิด เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น นอกจากชนิดวัสดุยังเยอะ แล้วยังมีสีให้เลือกได้อย่างจุใจ ซึ่งในปัจจุบันได้เกิดวัสดุการพิมพ์สำหรับระบบ FDM ขึ้นมามากมาย ทั้งการพัฒนาวัสดุพื้นฐานที่นิยมใช้งานกันอย่างเช่น PLA ที่ได้มีการเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงเช่น PLA-CF, PLA metal-filled เป็นต้น หรือเป็นการเพิ่มลูกเล่นของ PLA ขึ้นมาเช่น เส้นแบบ Color-change ที่ทำการเปลี่ยนสีได้เมื่อมีการเปลี่ยนอุณหภูมิระหว่างการพิมพ์ หรือเส้นสีรุ้งเป็นต้น และวัสดุอุตสาหกรรมก็เริ่มมีการทำเป็น Composite มากขึ้นเพื่อให้พิมพ์ง่าย แต่ยังคงคุณสมบัติที่แข็งแรง หรือแข็งแรงกว่าเดิม เช่น PC-ABS,PA6-CF เป็นต้น

ศึกษาวัสดุการพิมพ์สำหรับ FDM 3D Printer เพิ่มเติม

3. มีกลุ่มผู้ใช้งานมากที่สุด

ผลพวงจากการลดราคาของเครื่องพิมพ์ส่งผลโดยตรงทำให้ผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์ FDM เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเมื่อมีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็จะมีการแชร์ข้อมูลต่างๆ รวมถึงปัญหาการใช้งาน และวิธีแก้ปัญหาจำนวนมาก ซึ่งทำให้การใช้เครื่องพิมพ์ระบบ FDM นั้นไม่ยากอีกต่อไป แน่นอนว่าผู้ผลิตเองก็เก็บข้อมูลมาจากผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้น และทำการปรับปรุงเครื่องพิมพ์ให้มีความเสถียรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลหากเกิดปัญหาขึ้นภายหลังการใช้งานเครื่องพิมพ์อีกต่อไป

จุดด้อย

1.ความละเอียดในการพิมพ์ต่ำ

ถึงแมัว่าการพิมพ์งานด้วยระบบ FDM นั้นจะถูกพัฒนาขึ้นมากในปัจจุบัน จนทำให้ชิ้นงานมีความแม่นยำ และพิมพ์งานได้สวยขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยงามของงานยังสู้ระบบอื่นๆ ไม่ได้ โดยความละเอียดการพิมพ์งานของระบบ FDM ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 0.05-0.3 มม. ทำให้จะเห็นรอยต่อของชั้นได้ค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้ไม่เหมาะกับงานความละเอียดสูง และหากเป็นงานที่มีรายละเอียดที่เยอะมากๆ ลวดลายก็อาจจะหายไปเนื่องด้วยการทำความร้อนของหัวฉีดที่ทำให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บนตัวงานละลายหายไปนั่นเอง

2.การเก็บงานหลังจากพิมพ์เสร็จมีมากกว่า

การพิมพ์งานด้วยระบบ FDM นั้นจำเป็นต้องพิมพ์ซัพพอร์ตขึ้นมาค้ำชิ้นงานในส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวงาน เมื่อแกะซัพพอร์ตออกแล้วผิวงานจะขรุขระไม่เรียบทำให้ต้องเก็บงานเยอะ หากต้องการให้ชิ้นงานเนียนสวย โดยการเก็บงานของงานพิมพ์สามิตินั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งนี้ทั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ผู้ใช้งานด้วย โดยการเก็บที่นิยมใช้กันจะเป็นการขัดกระดาษทราย หรืออาจจะทำการพ่นเคลือบเพื่อปกปิดชั้นของชิ้นงานก็ได้ แต่ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม การเก็บงานจะทำให้ชิ้นงานเสียขนาดที่แท้จริงไปทำให้จะต้องมีการตั้งค่าเผื่อในส่วนนี้เพิ่มเติม

3.ไม่เหมาะกับการผลิตงานจำนวนมาก

ในปัจจุบันเริ่มมีหลายท่าน หรือหลายบริษัทที่ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในองค์กรมาใช้เครื่องพิมพ์สามมิติแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่การที่เราจะใช้เครื่องพิมพ์สามมิติมาผลิตงานแบบจำนวนมากนั้น ยังคงไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างแรกคือราคาต้นทุนพลาสติกที่เป็นวัสดุของเครื่องพิมพ์สามมิติ แม้ว่าจะราคาไม่แพงมาก แต่หากเพียบกับการฉีดพลาสติกที่ราคาพลาสติกตกราคากิโลละไม่ถึงร้อยบาทแล้ว (ซึ่งถูกว่าวัสดุสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติที่ราคาประมาณ 300-600 บาทขึ้นไป) จะส่งผลให้ราคาต้นทุนนั้นเพิ่มมากขึ้นแบบไม่จำเป็น ซึ่งยังมีเรื่องของค่าเสื่อมเครื่อง และค่าอะไหล่สิ้นเปลืองของเครื่องพิมพ์สามมิติอีกด้วย ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสียในระยะยาว

นอกจากนี้การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการผลิตชิ้นงานยังใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างมาก และผลิตได้ครั้งละไม่มากตามขนากแท่นพิมพ์ของแต่ละเครื่อง ดังนั้นการผลิตเป็นจำนวนพัน หรือหมื่นชิ้นจึงยังไม่คุ้มทุน

แนะนำการเลือกเครื่อง FDM ไว้ใช้งาน

การเลือกเครื่องพิมพ์ระบบ FDM มาใช้งานนั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องดูประกอบกัน เพื่อให้การตัดสินใจง่ายขึ้น และตรงกับงานเรามากที่สุด

1.งบประมาณ

เครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ในปัจจุบันนั้นมีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่หลักพันปลายๆ ไปจนถึงหลักหลายแสนบาทก็มี ทำให้การตั้งงบประมาณต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อที่จะได้เครื่องไม่แพงจนเกินไป หรือถูกเกินไปจนใช้งานได้ไม่เหมาะกับเรา แต่หากงบประมาณมีน้อยก็จะเลือกเครื่องที่ฟังก์ชั่นการใช้งานไม่เยอะมาก หรืออาจจะใช้แบบ DIY เลยก็ยังได้ครับ ถึงแม้ว่าการตั้งงบประมาณจะสำคัญ ผู้ใช้งานต้องประเมินผู้ใช้ด้วยเหมือนกัน เช่น หากเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยใช้เลย หรือไม่มีความรู้ด้านช่าง ก็อาจจะต้องเลือกเครื่องที่มีฟังก์ชั่นที่ใช้งานได้ง่าย และซ่อมบำรุงได้ง่ายๆ ไปก่อน

2.ผู้ใช้งาน

จุดนี้สำคัญรองลงมา เพราะต่อให้เครื่องแพงแค่ไหนก็ไม่ใช่ว่าจะเหมาะกับผู้ใช้งานทุกคนได้ ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้งานยังเป็นเด็กนักเรียน เครื่องที่เราจะซื้อนั้น ต้องเป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้งานไม่ยากจนเกินไป และเครื่องมีลักษณะเป็นตู้เพื่อความปลอดภัย หรือผู้ใช้งานเป็นวิศวกรออกแบบชิ้นงาน เครื่องที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นเครื่องที่ทำความร้อนได้สูง เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานวัสดุเกรดอุตสาหกรรมได้ หรือหากผู้ใช้งานเป็นคนทั่วไปใช้พิมพ์งานทั่วๆ ไปก็สามารถเลือกได้หลากหลายตามงบประมาณ เป็นต้น

3.ประเภทหรือลักษณะงานที่ต้องการใช้

เครื่องพิมพ์สามิติทุกเครื่องนั้นสามารถพิมพ์ชิ้นงานได้หลากหลาย และเกือบทุกรูปทรง ฉะนั้นให้ดูการนำชิ้นงานไปใช้เป็นหลักครับ เช่น หากทำชุดแข่งรถมอเตอร์ไซค์ วัสดุที่ใช้งานส่วนก็จะเป็น ABS หรืออาจจะเป็น PC ดังนั้นก็จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่สามารถพิมพ์วัสดุชนิดดังกล่าวได้ แต่หากใช้งานทั่วไป พิมพ์งานเล่นๆ ก็จะจะดูเพียงแค่งบประมาณก็เพียงพอแล้ว
แต่งานบางประเภทไม่สามาถพิมพ์ได้ด้วยระบบนี้ก็ อาจจะต้องใช้เป็นระบบ SLA หรือระบบอื่นๆ แทน เช่น งาน Figure ขนาดเล็ก ความละเอียดสูงๆ หรืองานระบบ Jewely และงานที่มีความบางมากๆ
SLA 3D Printer คืออะไร?

4.ขนาดการพิมพ์

การเลือกขนาดงานพิมพ์นั้นจะต้องสังเกตจากงานที่เราต้องการพิมพ์เป็นหลัก และแน่นอนว่าควรเลือกเครื่องให้ขนาดใหญ่เผื่องานในอนาคต แต่ก็ไม่ควรเลือกเครื่องใหญ่มากนัก เพราะยิ่งเครื่องใหญ่ราคาเครื่องก็จะยิ่งสูงตาม อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้งานที่มีความยากมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นให้ดูว่างานชิ้นใหญ่สุดที่เราคิดว่าจะพิมพ์มันนั้นมีขนาดใหญ่สุดเท่าไหร่ และอาจจะซื้อเครื่องขนาดใหญ่กว่าเผื่อไว้อีกซักหน่อย เช่น หากชิ้นงานที่ใช้มีขนาดใหญ่สุดประมาณ16-18เซนติเมตร เราอาจจะดูเป็นเครื่องขนาดประมาณ 20-22 เซนติเมตรไว้ใช้งาน

สรุป

FDM 3D Printer นั้นเป็นเครื่องพิมพ์สามมิติที่เหมาะกับการใช้งานที่หลากหลายเป็นอย่างมาก และด้วยเครื่องพิมพ์สมัยนี้มีราคาถูกลงกว่าในอดีตมาก ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันเทคโนโลยี และสงครามราคา ซึ่งผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับผู้บริโภค ที่สามารถจะมีเครื่องพิมพ์สามมิติไว้ใช้งานกันได้ง่ายขึ้น และในสมัยนี้สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งได้ทำการบรรจุเครื่องพิมพ์สามมิติลงในหลักสูตร และเพิ่มวิชาใหม่ที่ให้นักเรียนได้รู้จักการออกแบบ และใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติกันมากขึ้น บวกกับวัสดุการพิมพ์ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ระบบนี้นั้นก็มีให้เลือกหลากหลายชนิด และหลากหลายสี ที่ทำให้รองรับการใช้งานทั่วไป งานประดิษฐ์เล็กน้อย ไปจนถึงอุตสาหกรรมหนักทั้งหลาย ซึ่งเครื่องพิมพ์สามมิติเองนั้นก็เป็นตัวเร่งนวัตกรรม ที่กำลังเกิดได้เป็นอย่างดีเพราะสามารถผลิตงานต้นแบบที่ถูกลง และรวดเร็วขึ้นมาก

แนะนำเว็บโหลดโมเดลฟรี

สำหรับผู้เริ่มต้นใช้งานยังไม่มีไฟล์สามมิติเป็นของตัวเอง วันนี้เรามีเว็บโหลดไฟล์ฟรีมาแนะนำทุกคนกันครับ

Thingiverse

เว็บโหลดไฟล์ฟรียอดนิมตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สร้างโดย Makerbot ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติชื่อดังของประเทศสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันควบรวมกับ Ultimaker) จุดเด่นของเว็บนี้คือ เป็นเว็บแรกๆ ที่ผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติใช้งานกัน ทำให้จำนวนไฟล์ที่ถูกอัพโหลด และมีการปรับปรุงนั้นมีอยู่จำนวนมาก จึงเหมาะกับการหาไฟล์เริ่มต้นมาใช้งานครับ

ทดลองใช้งาน >> Thingiverse

Printables

Printables สร้างขึ้นโดย Prusa Research จากสาธารณรัฐเช็ก โดยพื้นฐานถูกสร้างมาเพื่อซัพพอร์ตผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์ของ Prusa เป็นหลัก แต่ด้วย UI ที่สวยงามทำให้ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งจุดเด่นยังเป็น 3D Viewer ที่ใช้งานง่าย และดูได้ทุกไฟล์ที่ดาวน์โหลด และยังมีการจัดคอนเทนต์ไฟล์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ทดลองใช้งาน >> Printables

Makerworld

เว็บน้องใหม่มาแรงจาก Bambulab ประเทศจีน จุดประสงค์คล้ายกับ Printables ที่ทำเพื่อซัพพอร์ตลูกค้าที่ใช้งานเครื่อง Bambulab เป็นหลัก แต่จุดเด่นของเว็บนี้คือ เราจะเจอไฟล์แปลกๆ ที่มีความซับซ้อนอยู่มาก ทำให้หาไฟล์มาพิมพ์ได้ไม่เบื่อกันเลยทีเดียว แต่จุดอ่อนคือผู้ Upload สามารถเลือกได้ว่าจะอัพไฟล์ STL ขึ้นไปหรือไม่ ทำให้หลายไฟล์ไม่สามารถพิมพ์เครื่องได้โดยตรง ทำให้ต้องวุ่นวายกับการแปลงไฟล์ไปมาพอสมควร

ทดลองใช้งาน >> Makerworld

เครื่องพิมพ์สามมิติเน้นใช้งานทั่วไป

เครื่องพิมพ์สามมิติเน้นใช้งานในอุตสหกรรม

วัสดุการพิมพ์สามมิติเน้นใช้งานทั่วไป

วัสดุการพิมพ์รองรับระดับอุตสาหกรรม