3D printing กับความปลอดภัยต่อการสัมผัสอาหาร

3D printing กับความปลอดภัยต่อการสัมผัสอาหาร

แนวทางสำคัญในการพิมพ์สามมิติภาชนะใส่อาหาร: ข้อกำหนด เทคโนโลยี วัสดุ และอื่น ๆ

 

เครื่องพิมพ์สามมิติให้อิสระในการออกแบบสินค้าที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน  งานที่มีความสลับซับซ้อน หรืองานที่มีรูปทรงแบบออแกนนิค ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง หรืออาจจะไม่สามารถผลิตด้วยกรรมวิธีทั่วไปได้เลย

แต่ความอิสระนี้อาจจะถูกข้อบังคับด้านการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับอาหาร หากคุณต้องการพิมพ์งาน 3D ที่ต้องสัมผัสกับอาหาร คุณจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการสัมผัสกับสารพิษ หรือการสะสมแบคทีเรียที่เป็นอันตราย

การพิมพ์ 3D ที่ปลอดภัยกับอาหารเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และวัสดุที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหารก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีความเคลือบแคลงเกี่ยวกับวิธีการทำงาน และการหาข้อกำหนดที่ตรงตัวก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

จากนี้จะขอแนะนำเกี่ยวกับความปลอยภัยด้านอาหาร ข้อควรคำนึงเรื่องการพิมพ์ 3D สำหรับอาหาร และประเภทของเครื่องพิมพ์ 3D ที่ใช้ผลิต ทั้งในเครื่องแบบ stereolithography (SLA), fused deposition modeling (FDM), และ selective laser sintering (SLS)

จริง ๆ แล้วความปลอดภัยกับอาหาร (Food Safe) หมายถึงอะไรกันแน่?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำศัพท์ต่อไปนี้เสียก่อน

  • Food gradeคำว่า “Food grade” คือส่วนประกอบแต่ละส่วนในความปลอดภัยของอาหารและยาต่อการบริโภคของมนุษย์ และสามารถใช้ได้โดยตรงกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งใช้กันทั่วไปในการอธิบายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพียงพอที่จะใช้สำหรับการผลิตอาหาร การจัดเก็บอาหาร หรือเพื่อเตรียมอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นตัวบ่งชี้ที่มีความสำคัญด้านความปลอดภัยในทางปฏิบัติในหลายอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัย วางใจและยกระดับของสินค้าให้ก้าวสู้ระดับที่สูงขึ้น ตอบสนองลักษณะทางความนิยมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีคำว่า ฟู้ดเกรด (Food Grade) จึงถือว่ามีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • Food safeหมายถึงการเลือกใช้วัสดุ Food grade ที่ปลอดภัยเหมาะสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถนำมาบริโภคได้ โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหารและยา เช่น อันตรายทางชีวภาพที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นจุลินทรีย์ก่อโรค อันตรายทางเคมีที่เกิดจากสารเคมีที่มีอยู่ในวัตถุดิบ อันตรายทางกายภาพที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอม ปนเปื้อนมากับอาหาร ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมี และอันตรายทางกายภาพ
  • Food contact surfaces (พื้นผิวที่สัมผัสอาหาร) หมายถึง พื้นผิวที่สัมผัสกับอาหาร และพื้นผิวที่ของเหลวไหลหยดลงบนอาหารโดยตรง หรือหยดบนพื้นผิวที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นตามปกติของการ ผลิตอาหาร รวมถึงภาชนะและพื้นผิวของเครื่องมือที่สัมผัสกับอาหาร พื้นผิวที่สัมผัสอาหาร (food contact surfaces) ทำจากวัสดุที่ปลอดภัยต่ออาหารที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทนต่อสภาพแวดล้อมที่จะนำมาใช้ ซึ่งรวมถึงการสัมผัสกับสารทำความสะอาด สารฆ่าเชื้อและขั้นตอนการทำความสะอาดต่าง ๆ

Food grading และ food safety จะให้ความสำคัญกับการบริโภคเข้าไป อนุภาคขนาดเล็กมาก ๆ ขนาดไม่กี่นาโนเมตร จนถึงขนาดหลายร้อยนาโนเมตรอาจถูกถ่ายทอดไปในแต่ละกระบวนการ ตัวอย่างเช่นจากวัตถุดิบไปยังชิ้นงานพิมพ์ และจากชิ้นงานไปยังอาหาร

เนื่องจากระดับการถ่ายทอดอนุภาคจะน้อยมากในการสัมผัสอาหารแบบชั่วครู่ ดังนั้น Food grade จึงจะให้ความสำคัญกับการสัมผัสกับอาหารเป็นระยะเวลานาน ๆ มากกว่า เช่นภาชนะใส่อาหาร หลอดดูด ช้อนส้อม จาน และแม่พิมพ์อาหาร การทดสอบจะเป็นไปตามข้อกำหนดของ อย. แต่ละประเทศ ในส่วนขอประเทศไทยจะพิจารณาถึง

  • วัสดุผ่านอุณหภูมิในช่วงแนะนำที่ปลอดภัย
  • วัสดุนั้นมีความปลอดภัยกับอาหารแต่ละชนิด (ปริมาณไขมัน, ความเป็นกรด, ความชื้น และอื่น ๆ )
  • วัสดุนี้จะคงสภาพแวดล้อมที่จะถูกนำไปใช้รวมถึงการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ

สำหรับในสหรัฐฯ จะเป็นไปตาม FDA CFR 21 และด้านยุโรปจะมีข้อกำหนด 10/2011

มองหาสัญลักษณ์เหล่านี้ของ อย. แต่ละประเทศ โปรดระลึกไว้ว่าวัสดุนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามันได้รับอนุญาตให้ใช้โดยหน่วยงานนั้น ๆ ดังนั้นต้องตรวจสอบกับเอกสารข้อมูลด้านเทคนิคให้แน่ใจก่อน

มาตรฐานสากลในการพิจารณาจะเป็นไปตามรหัสอาหารของ อย. วัสดุที่ใช้จะต้องผ่านมาตรฐานดังต่อไปนี้

  • ไม่มีการแพร่วัตถุอันตราย
  • ไม่ส่งกลิ่น สี หรือรส
  • ปลอดภัยภายใต้การใช้งานปรกติ
  • ทนทาน ทนการกัดกร่อน และ ไม่ดูดซึม
  • มีน้ำหนักมากพอที่จะรองรับการล้างได้หลาย ๆ ครั้ง
  • ผิวเรียบ ทำความสะอาดได้ง่ายโดยไม่แตกหัก และไม่มีคม
  • ทนทาน ไม่เป็นรอย หลุม แตกลายงา รอยแยก รอยบาก การบิดเบี้ยว และย่อยสลาย
  • ตรวจสอบได้ง่าย

ข้อพิจารณาในด้านความปลอดภัยต่ออาหารของงานพิมพ์ 3D

การสะสมแบคทีเรีย

งานพิมพ์ 3D อาจจะกลายเป็นจานเพาะเชื้อแบคทีเรียได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ ถึงแม้ว่าวัสดุบางชนิดจะเอาเข้าเครื่องล้างจานได้ แต่แบคทีเรียอันตรายบางชนิดเช่น E. coli และ salmonella ที่อาศัยในซอกเล็กซอกน้อยบนผิวงานก็อาจหลุดรอดไปได้ เชื้อราที่มีพิษบางชนิดก็สามารถเจริญเติบโตได้บนพลาสติกและยากที่จะกำจัด การใช้สารฟอกขาว หรือเอาเข้าเครื่องไมโครเวฟก็ไม่สามารถกำจัดมันได้

คงไม่มีปัญหาใด ๆ หากมันเป็นงานพิมพ์ที่ใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้าคุณตั้งใจจะใช้มันถาวร ก็ขอแนะนำว่าให้เคลือบมันด้วยสารที่เป็น food safe

การเคลือบด้วยสารที่เป็น food safe และ น้ำยาผนึก

ทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดอันตรายจากการสะสมของแบคทีเรีย และจากอนุภาคที่หลุดออกมา ทำได้โดยการจุ่มเคลือบงานพิมพ์สามมิตินั้นด้วย food grade epoxy หรือ polyurethane resin ตัวอย่างเช่น Masterbond’s EP42HT-2FG หรือ ArtResin หรือเทฟล่อน

อย่างไรก็ตามการเคลือบนั้นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะใช้ได้อย่างปลอดภัยในระยะยาว เพราะสารเคลือบเหล่านี้ไม่ได้ทนต่อการล้างด้วยเครื่องล้างจาน และมันยังเสื่อมไปตามอายุด้วย ทำให้พื้นผิวเดิมเผยออกมา

ความปลอดภัยสำหรับเครื่องล้างจาน

โดยทั่วไปวัสดุที่ใช้พิมพ์สามมิติมักจะมีค่าการต้านทานความร้อนต่ำ ซึ่งหมายความว่ามันจะเกิดการเปราะ แตก หรือเสียรูปเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น หากคุณตั้งใจจะทำความสะอาดงานพิมพ์สามมิติด้วยเครื่องล้างจาน โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่ามันใช้วัสดุที่ปลอดภัยสำหรับใช้กับเครื่องล้างจาน และตรวจสอบอุณหภูมิด้วย

อุปกรณ์ที่ปลอดภัยกับอาหาร

เนื่องจากอนุภาคสามารถเคลื่อนย้ายจากตัวเครื่องพิมพ์สามมิติไปยังงานพิมพ์สามมิติได้ ดังนั้นมันจึงสำคัญมากที่ตัวเครื่องพิมพ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่สัมผัสกับวัสดุพิมพ์ และงานพิมพ์ จะต้องไม่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายด้วย

ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้งานวัสดุหลายชนิดในเครื่องเดียวกัน ซึ่งวัสดุที่ใช้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เป็น food safe หรือมีสารพิษตกค้างอยู่ก็ได้

วัสดุพิมพ์ที่เป็น Food safe

วัสดุพิมพ์สามมิติหลาย ๆ ชนิดไม่เป็น food safe และอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อนอยู่ จงใช้แต่วัสดุพิมพ์ที่ทำมาเพื่อการใช้พิมพ์งานที่สัมผัสอาหารได้โดยเฉพาะเท่านั้น

ระยะเวลาที่สัมผัสอาหาร

อย่างที่ทราบแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนจะมากขึ้นเมื่อมีการยืดระยะเวลาที่งานพิมพ์สามมิติสัมผัสกับอาหารให้ยาวนานขึ้น ดังนั้นจึงควรจำกัดเวลาที่งานพิมพ์ต้องสัมผัสกับอาหารให้น้อยที่สุด

การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติผลิตภาชนะบรรจุอาหาร

ลองถามตัวเองว่าทำไมจึงต้องพิมพ์งานที่สัมผัสอาหาร หากเป็นงานออกแบบ งานสร้างสรรค์ โดยทั่วไปแล้วมีวิธีทำโดยอ้อมในการผลิตเช่นการทำเป็นแม่พิมพ์ก่อน สามารถอ่านรายละเอียดในหัวข้อต่อไป

งานพิมพ์ระบบ Stereolithography (SLA) ที่เป็น Food Safe

งานพิมพ์ระบบ SLA จะขึ้นรูปวัตถุสามมิติด้วยการใช้แสงเลเซอร์ยิงไปยังเรซินเหลวไวแสง เพื่อให้เรซิน ณ จุดนั้นแข็งตัว

แล้วเรซินนั้นเป็นชนิดที่ปลอดภัยกับอาหารไหม? คำตอบคือ ไม่ เนื้อเรซินสามารถก่อเกิดอนุภาคได้ ทำให้เรซินทุกชนิด รวมถึงงานพิมพ์ไม่ปลอดภัยต่ออาหารด้วยตัวของวัสดุเอง แม้เรซินสำหรับงานทันตกรรม และทางการแพทย์จะได้รับการรับรองว่าเข้ากันได้กับร่างกาย แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันปลอดภัยกับอาหาร วัสดุเหล่านี้ได้รับการรับรองให้ใช้เฉพาะเจาะจงกับงานบางชนิดเท่านั้น และไม่ควรสัมผัสอาหาร

งานพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ระบบ SLA จะมีผิวที่เรียบกว่า จึงง่ายกว่าในการเคลือบผิวเพื่อป้องกันการก่อตัวของแบคทีเรีย ปัจจัยที่มีผลต่อความเรียบของผิวได้แก่ ชนิดของเรซิน ความหนาของเลเยอร์ ทิศทางการวาง จำนวนโครงตาข่ายของโมเดลงาน และการอบแสงยูวี งานพิมพ์ที่เสร็จแล้วจะต้องล้าง และอบยูวีตามขั้นตอนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำก่อนจะนำไปเคลือบ อย่างไรก็ตามการเคลือบก็ยังไม่ได้รับประกันว่าจะปลอดภัยกับอาหารเนื่องจากสารเคลือบอาจจะทำปฏิกิริยากับเรซิน หรือเสื่อมสภาพไปตามเวลา ทำให้ผิวเรซินเปิดเผยออกมา

แม่พิมพ์

การทำแม่พิมพ์ตามแบบเป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปในการใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ระบบ SLA โดยที่งานพิมพ์จาก SLA ไม่เหมาะที่จะสัมผัสอาหารโดยตรง แต่มันเหมาะมากที่จะใช้ทำแม่พิมพ์แล้วใช้การขึ้นรูปแบบสุญญากาศด้วยพลาสติกที่เป็น Food safe

การขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์นี้ง่าย และผลงานที่ได้ก็สวยงามมาก

งานแม่พิมพ์ 3D และใช้การขึ้นรูปแบบสุญญากาศ

การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า (Electroplating)

กระบวนการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสารละลายเกลือของโลหะ (Metallic salts) แล้วทำให้อิออนบวกวิ่งมารับประจุไฟฟ้าลบที่ชิ้นงาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นขั้วลบ (Cathode) จึงทำให้เกิดเป็นชั้นผิวบางของโลหะมาเคลือบอยู่บนผิวด้านนอกของชิ้นงาน มักใช้เพื่อป้องกันการเกิดสนิมโลหะ หรือเพื่อให้พื้นผิวงานมีความคงทน

งานพิมพ์จากเครื่อง SLA เหมาะมากกับการชุบโลหะ เนื่องจากผิวที่เรียบ แต่พลาสติกไม่นำไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องเคลือบด้วยสารนำไฟฟ้าเช่นกราไฟท์ conductive lacquer, electroless plate, หรือ a vaporized coating

การเคลือบโลหะเพื่อให้ปลอดภัยต่ออาหารมีอยู่จริง แต่กระบวนการนั้นต้องผ่านสารเคมีจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมั่นใจว่ากระบวนการผลิตมีความปลอดภัย และได้รับการรับรอง

เซรามิก

งานพิมพ์เซรามิกจากเครื่อง SLA สามารถผลิตงานเซรามิกได้จริง โดยการนำงานที่พิมพ์เสร็จแล้วไปเผาในเตาเผา มันจะทำให้เรซินไหม้หมดไป เหลือแต่เนื้อเซรามิกซึ่งมีความแข็งแรง และทนต่อสารเคมีส่วนใหญ่ได้ พื้นผิวของงานจะถูกเคลือบแก้วไปในตัวทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

งานพิมพ์ 3D ด้วยวัสดุเซรามิก สามารถผลิตงานที่ยากจะทำด้วยมือ

งานพิมพ์ระบบ Fused Deposition Modeling (FDM) ที่เป็น Food Safe

FDM เป็นการพิมพ์สามมิติที่ขึ้นรูปงานด้วยการหลอมเส้นพลาสติกและฉีดออกมาเป็นเส้นเล็ก ๆ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จนเป็นรูปร่างที่ต้องการ

เส้นพลาสติกที่ถูกฉีดออกมาจะมีหน้าตัดเป็นวงกลม เมื่อวันซ้อนกันจะมีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างเส้น และระหว่างชั้น ดังนั้นเราจึงแนะนำว่าให้พิมพ์ที่ความสูงระหว่างชั้นที่ต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้ปลอดภัยกับอาหาร

ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดของเครื่องพิมพ์ FDM คือการหลีกเลี่ยงการสะสมตัวของแบคทีเรียในช่องว่างนั้น ในการใช้งานที่สัมผัสอาหารในระยะยาว จำเป็นต้องมีการทำให้ผิวงานเรียบ โดยการใช้สารเคมีเช่น acetone, d-Limonene, หรือ ethyl acetate เพื่อกำจัดส่วนที่ไม่เรียบบนผิวงานออกไป แต่อย่างไรก็ตามการเคลือบผิวก็ยังจำเป็นอย่างมาก

ชั้นของเส้นพลาสติกของเครื่อง FDM (ซ้าย) เทียบกับเครื่อง SLA (ขวา)

เส้นพลาสติกชนิด Food grade จะไม่มีส่วนผสมที่ทำให้หัวพิมพ์สึกหรอ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงหัวพิมพ์ชนิดทองเหลืองผสมตะกั่ว ให้ใช้หัวพิมพ์แบบสเตนเลสสำหรับงานที่สัมผัสอาหาร

นอกจากนี้ต้องตรวจสอบเครื่องพิมพ์ว่าสามารถใช้งานร่วมกับเส้นพลาสติกได้ ตัวอย่างเช่นพลาสติก PEI มีคุณสมบัติที่เหมาะ และเป็นไปตามที่ อย. กำหนดแต่มันก็ต้องการความร้อนสูงกว่า 300 °C ซึ่งไม่ใช่จะทำความร้อนได้ขนาดนั้นทุกเครื่อง

เส้นพลาสติกชนิด Food grade

เส้นพลาสติกที่นิยมใช้กันทั่วไปกับเครื่องพิมพ์สามมิติคือ PLA และ ABS คำถามคือ PLA และ ABS เป็นพลาสติกที่ปลอดภัยกับอาหารหรือไม่? คำตอบคือ “อาจจะ” ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง

เส้นพลาสติกชนิด Food safe จะมี PLA, PP, co-polyester, PET, PET-G, HIPS, nylon-6, ABS, ASA, และ PEI แต่ถ้าต้องเอาเข้าเครื่องล้างจานแล้วละก็ ให้หลีกเลี่ยง PET, nylon, และ PLA เนื่องจากมันจะอ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อน และเสียรูปเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึง 60-70°C และหากต้องใช้กับของเหลวที่ร้อนควรใช้วัสดุ co-polyester, High Temperature PLA หรือ PEI จะเหมาะกว่า

แม้จะไม่อยู่ในข้อห้าม แต่มีการศึกษาบางฉบับอ้างว่า polystyrene อาจจะปลดปล่อยสาร styrene วัสดุ co-polyesters อาจมีผลกระทบกับสุขภาพ และเส้นพลาสติกที่เป็น Food grade อาจสูญเสียคุณสมบัตินั้นไปกับการเกิด oxidation หรือเสื่อมสภาพไประหว่างกระบวนการพิมพ์

FILAMENT BRAND FDA EU SMOOTHABLE DISHWASHER SAFE HOT LIQUIDS
ABS Adwire PRO Approved NA Yes, acetone Yes Yes
Innofil3D Approved except red, orange, and pink Approved except red, orange, and pink Yes, acetone Yes Yes
ASA Innofil3D NA Compliant Yes No
Bendlay Orbi-Tech NA Compliant Yes, brake cleaner No No
Biocompound Extrudr GreenTEC NA Compliant
Co-Polyester Colorfabb XT Approved Compliant No Yes Yes
HIPS Easyfil Compliant Compliant Yes, d-limonene Yes No
Fillamentum NA Compliant Yes, d-limonene Yes No
InnoFil3D Approved Approved Yes, d-limonene Yes No
Nylon Taulman Nylon 680 Compliant NA No No
PEI ULTEM® 1000 Compliant NA Yes Yes
PET InnoPet EPR Approved except red and orange Approved except red and orange Yes, ethyl acetate No No
Refil Approved NA Yes, ethyl acetate No No
Taulman T-Glase Approved NA Yes, ethyl acetate No No
Verbatim Compliant NA Yes, ethyl acetate No No
PET-G Extrudr MF NA Approved Yes, ethyl acetate No No
HDGlass Approved Approved Yes, ethyl acetate No No
PLA Filaments.ca TrueFS Approved NA No No No
Fillamentum NA Compliant No No No
Innofil3D Approved except red, orange, pink, apricot skin, grey, and magenta Approved except red, orange, pink, apricot skin, grey, and magenta No No No
Copper3D PLActive Antibacterial Approved Compliant No No No
Makergeeks Approved NA No No No
Purement Antibacterial Approved Approved No No No
PLA-HT Makergeeks Raptor Approved NA No Yes Yes
Makergeeks Raptor Approved NA No Yes Yes
PP Centaur Compliant Compliant No Yes Yes
InnoFil3D Approved Approved No Yes Yes
Nunus Compliant Compliant No Yes Yes
Verbatim Compliant NA No Yes Yes
SBS Filamentarno NA Approved only in Russia Yes, d-limonene Yes Yes

โปรดทราบ: ข้อมูลในตารางข้างต้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

งานพิมพ์ระบบ Selective Laser Sintering (SLS) ที่เป็น Food Safe

การพิมพ์ระบบ Selective Laser Sintering เป็นการยิงแสงเลเซอร์ไปยังผงโพลีเมอร์เพื่อหลอมละลาย วัสดุที่นิยมใช้คือ nylon ซึ่งมีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ดีมาก

ผงโพลีเมอร์อาจจะเป็น Food grade แต่ผงบางส่วนที่อยู่บนผิวของงานอาจจะไม่ได้ถูกหลอมเหลวเพียงพอ ก่อให้เกิดรูพรุนเล็ก ๆ เป็นที่สะสมของแบคทีเรียได้ และถึงแม้ว่าวัสดุ Nylon 12 จะสามารถอบไอน้ำเพื่อทำความสะอาดได้ แต่ก็ควรจะมีการเคลือบผิวด้วยสารเคลือบชนิด Food grade อีกครั้งจะดีกว่า

ขั้นตอนหลังการพิมพ์ตามปรกติของงานพิมพ์ SLS คือการย้อมสี ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะทำให้สีย้อมซึมเข้าไปในเนื้องาน และทำให้งานพิมพ์นั้นไม่ปลอดภัยต่ออาหารก็ได้

สรุป

ความปลอดภัยต่ออาหารของงานพิมพ์สามมิติอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด หรือไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่าใช่ หรือไม่ การนำงานพิมพ์สามมิติไปสัมผัสอาหารมีข้อควรคำนึงถึงอย่างระมัดระวังก่อนนำไปใช้งานจริง หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ขอแนะนำให้อ่านบทความต่อไปนี้: