เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลที่กำลังพลิกโฉมหน้า “วิธีการผลิตสินค้า” กำลังจะเปลี่ยน “วิถีชีวิต” และ “วิถีการทำงาน” ของเราในวันนี้ด้วย
สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และนักออกแบบทุกแขนงกำลังตื่นเต้นสุดขีดกันในช่วงนี้ ก็คือเรื่องของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม” ที่โลกของเรากำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ ซึ่งหลายคนที่ได้ยินได้ฟังก็อาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า
…อะไรหรือคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม?
…หัวใจหรือสาระสำคัญของการปฏิวัตินี้คืออะไร?
…แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการบริโภคของมนุษย์เราไปยังไงบ้าง?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับเส้นทางของการปฏิวัติอุตสาหกรรมกันสักนิดหนึ่ง
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อราวศตวรรษที่ 18 (ราวปีค.ศ.1760) เป็นยุคสมัยที่มีการนำเครื่องจักรไอน้ำและพลังงานถ่านหินเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นครั้งแรก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางสังคมที่โยกย้าย “แรงงานฝีมือ” ตามบ้านเรือนและชนบท ให้เข้ามากระจุกตัวทำงานกันในเมือง ณ โรงทอผ้าขนาดใหญ่ ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่คำว่า “โรงงาน” ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำลายการผลิตในระดับครัวเรือนไปจนเกือบหมดสิ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกนี้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่อังกฤษอย่างมหาศาล และกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ก้าวเดินตามมา ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของพื้นที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมจากประเทศอังกฤษไปสู่ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน อเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษที่ 19
โรงงานปั่นด้ายในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองนั้นเกิดขึ้นตามมาในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งที่นายเฮนรี่ ฟอร์ด นำเสนอไลน์การประกอบรถยนต์ในลักษณะแยกประกอบขึ้นเป็นครั้งแรก (Moving assembly line) สิ่งนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตรถยนต์จากความเป็นสินค้า Custom-made ไฮเอนด์ ราคาแพง ให้กลายสินค้าเพื่อมวลชน (Mass product) ที่คนชั้นกลางเข้าถึงได้ง่าย เน้นการผลิตจำนวนมาก และลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ต่ำที่สุด นัยสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 นี้เป็นผลมาจากที่โลกของเราเริ่มปรับเปลี่ยนพลังงานทางการผลิตจากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้ไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมันมากขึ้นอย่างชัดเจน
รถยนต์ Ford ในช่วงปี 1880 – 90
การปฏิวัติอุตสาหกรรมสองครั้งแรกนี้ส่งผลทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึก “รวยขึ้น” และ “เป็นคนเมืองมากขึ้น” โดยอัตโนมัติ ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ของวิถีการผลิต การจ้างงาน และการบริโภคแบบใหม่ ที่เข้าถึงคนหมู่มากได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง แต่สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ วิถีการผลิตของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว และสิ่งสำคัญก็คือมันไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงแค่วิถีการทำธุรกิจหรือการงานของพวกเราเท่านั้น แต่มันจะกระทบอย่างใหญ่หลวงกับ “การใช้ชีวิต” ของพวกเราในวันข้างหน้าด้วย
จาก Mass Production เป็น Mass Customization
ทุกวันนี้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบได้ถูกผสานรวมเข้าด้วยกัน (Convergence) ไม่ว่าจะเป็นวัสดุสุดล้ำ ซอฟแวร์แสนฉลาด เครื่องยนต์กลไกที่ว่องไวขึ้น รวมไปถึงระบบการผลิตใหม่ๆ (โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์สามมิติ) ที่เชื่อมโยงเข้ากับบริการออนไลน์อันเปิดกว้างไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า “โรงงาน” ในบริบทของยุคอดีตนั้นอาจจะผูกโยงอยู่กับการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ทุกชิ้นหน้าตาเหมือนกัน และทำออกมาพร้อมๆ กันหมด (Mass Production) แต่กับการผลิตในอนาคตจากนี้ โรงงานกำลังจะก้าวสู่ยุคของ “Mass Customization” อย่างเต็มตัว คือสินค้าทุกอย่างจะยังคงเข้าถึงได้ง่าย มีราคาเป็นมิตร แต่กลับจะตอบสนองต่อ “รสนิยม” และ “ความต้องการเฉพาะบุคคล” ได้มากขึ้น ที่สำคัญรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “โรงงานผลิต” นั้นก็จะย้อนกลับไปสู่ลักษณะของ “ครัวเรือน” มากขึ้น สายการผลิตจะมีขนาดเล็กลง ผลิตกันได้ตามบ้าน ตามแต่ละชุมชน ซึ่งวิถีเช่นนี้กำลังจะเข้าแทนที่การผลิตแบบโรงงานขนาดใหญ่ และทำให้สายพานการผลิตขนาดมหึมาต้องยุติบทบาทลงในที่สุด
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้จะมีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้แรงงานในอนาคตไม่จำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำกันอีกต่อไป งานจะเริ่มกลับคืนสู่บ้าน และบ้านก็จะกลายเป็นที่ทำงานจริงๆ ได้อีกครั้ง …เหมือนเช่นในอดีต
ในอดีตนั้นการผลิตสินค้าขึ้นมาอย่างหนึ่งมักจะต้องอาศัยการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน จะด้วยตะปู ด้วยน็อต หรือด้วยการเชื่อมไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้เรากำลังจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับกระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ ซึ่งนั่นก็คือการออกแบบสินค้าบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และ “สั่งพิมพ์มันออกมาทั้งชิ้น” ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ
เทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่นี้ได้เปิดประตูให้เราสร้างสรรค์รูปธรรมของสินค้าขึ้นได้โดยง่ายและในเวลาอันรวดเร็ว อาศัยเทคนิคการพิมพ์เนื้อวัสดุซ้อนทับกันลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรูปทรงสามมิติขึ้นตามที่ต้องการ ส่วนการปรับเปลี่ยนดีไซน์ (Design Customization) ให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลนั้นก็ทำได้ไม่ยาก แค่ปรับนั่นนิดนี่หน่อยในจอคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถผลิตสินค้าชิ้นใหม่ออกมาได้แล้วในพริบตา เป็นเทคโนโลยีที่จะตอบสนองต่อเรื่องรสนิยมและฟังก์ชั่นที่หลากหลายได้อย่างไร้ขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพิมพ์ค้อนหนึ่งอันออกมาได้ตรงตามโจทย์ของลูกค้าทุกประการ และหากมีลูกค้าคนที่สองต้องการค้อนอีกหนึ่งอันที่มีลักษณะแตกต่างจากลูกค้าคนแรก เราก็สามารถสั่งเครื่องพิมพ์ให้ปรับมิติต่างๆ ของค้อนอันที่สองได้ทันที ซึ่งกรรมวิธีนี้แตกต่างจากการผลิตค้อนในปัจจุบันที่ยังจะต้องการชิ้นส่วนหลายชิ้นเพื่อนำมาประกอบกันเป็นค้อน ดังนั้นหากเราจะสั่งทำค้อนดังกล่าวเพียงชิ้นเดียวก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงมาก และทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายได้
ที่สำคัญเครื่องพิมพ์สามมิตินี้สามารถทำงานของมันไปได้เรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ อาศัยแรงงานคนเข้าช่วยน้อยมาก (คนจะทำหน้าที่แค่ปรับแบบ เปิดปิดเครื่อง เติมหมึก เท่านั้น) ซึ่งเราเชื่อแน่ว่าในอนาคตอีกไม่นานเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิตินี้ก็จะถูกต่อยอดจนสามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้นอีก จะก้าวไปถึงจุดที่จะผลิตอะไรก็ได้ ผลิตที่ไหนก็ได้
และพลังของการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้จะเหนือกว่าการผลิตด้วยแรงงานฝีมือ หรือสายพานการผลิตที่เคยมีมาทั้งหมดในประวัติศาสตร์!
เมื่อเทคโนโลยีการผลิตก้าวสู่ “มิติที่สาม”
ทุกวันนี้วิวัฒนาการของการพิมพ์สามมิติอาจจะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ คือเป็นช่วงเริ่มต้นมากๆ แต่มันก็ได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าอนาคตของมันนั้นน่าจะเรืองรองแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเราสามารถผลิตเครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) ที่ปรับดีไซน์ได้แบบไม่จำกัด ผลิตกันแบบ “หนึ่งชิ้นต่อหนึ่งคน” โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม หรือกระทั่งวิศวกรนักสำรวจที่ทำงานอยู่ในทะเลทรายก็สามารถผลิตชิ้นส่วนกลไกเครื่องยนต์ได้ทันทีหากจำเป็นต้องใช้ ไม่จำเป็นต้องรอเป็นวันๆ หรือสัปดาห์เพื่อรับชิ้นส่วนที่ส่งมาจากในเมืองอีกต่อไป
คุณพอจะนึกภาพออกรึยังว่าเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิตินี้จะมีคุโณปการมากมายแค่ไหนต่อวิถีการทำงานและการบริโภคของมนุษย์เราในอนาคต ซึ่งมันคงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ในโลกของอุตสาหกรรมการสำรวจ การทหาร หรือการทำงานด้านภัยพิบัติต่างๆ เท่านั้น แต่ต่อจากนี้โลกของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การผลิต และการตลาด ที่เราคุ้นชินทั้งหมดจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนโฉมหน้า วัสดุในอนาคตจะมีน้ำหนักเบาขึ้น แข็งแรงขึ้น และทนทานมากยิ่งขึ้น คาร์บอนไฟเบอร์จะเข้ามาแทนที่เหล็กและอลูมิเนียมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมการผลิตของเล็กๆ อย่างจักยานเสือภูเขา ไปจนกระทั่งถึงของใหญ่ๆ อย่างเครื่องบินโดยสารเลยทีเดียว
จาก Economy of Scale เป็น Economy of Speed
เทคนิคการผลิตใหม่ๆ กำลังเอื้อให้เหล่าวิศวกรสามารถสร้างสรรค์ผลงานในมิติที่เล็กลงมากๆ นาโนเทคโนโลยีได้ยกระดับวิวัฒนาการของสินค้าอุปโภคบริโภคให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกวันนี้เราจะเห็นพลาสเตอร์ยาที่ช่วยสมานแผลได้เร็วขึ้นกว่าธรรมชาติ เรามีถ้วยชามดินเผาที่ทำความสะอาดได้ง่ายในพริบตา มียานพาหนะที่ให้พละกำลังสูงขึ้นกว่าอดีตมหาศาล มีกระทั่งแบตเตอรี่ที่ผลิตขึ้นได้จากการโมดิฟายเชื้อไวรัส (!) เชื่อหรือไม่ว่าความสร้างสรรค์เหล่านี้ได้ถูกเชื่อมต่อเข้าหากันแล้วทั้งหมด…ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เราไม่สามารถจะสร้างพรมแดนที่กั้นขวางไอเดียได้อีกต่อไป และในอนาคตอันใกล้เชื่อแน่ว่าวิวัฒนาการของสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ก็จะยิ่งพัฒนาก้าวหน้าเร็วขึ้นอีก เพราะกำแพงของการเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ และทรัพยากรมนุษย์ที่ใช่ กำลังจะถูกทลายลงหมดสิ้น นักนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอาจจะไม่ใช่คนที่มีคอนเน็กชั่นเลิศล้ำ สามารถดิ้นรนหาทุนมาตั้งโรงงานได้ แต่อาจจะเป็นแค่ตาสีตาสาที่ทำงานในโรงนาที่ไหนสักแห่ง ที่เขาสามารถคิดต่อยอดและผลิตนวัตกรรมที่ใช่ที่สุดออกมาสู่ท้องตลาดได้ก่อนใครเพื่อน
ในประเด็นด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามนี้ก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าของ “ที่ทำงาน” ไปอย่างสิ้นเชิง โรงงานผลิตจะก้าวเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หมดยุคของเครื่องจักรขนาดยักษ์ คนงานจำนวนนับร้อย หรือคราบน้ำมันที่เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า ที่ทำงานยุคใหม่จะเป็นสถานที่ที่สะอาดตาขึ้น มีข้าวของเครื่องใช้น้อยลง แต่กลับจะมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ที่สำคัญตลาดแรงงานในอนาคตจะก้าวสู่ยุคของแรงงานที่ใช้สมอง แต่ละคนจะมีทักษะเฉพาะทาง (Skilled Worker) และมาทำงานร่วมกัน (Collaborate) พื้นที่การผลิตสินค้าจะเต็มไปด้วยนักออกแบบ วิศวกร พนักงานไอที พนักงานโลจิสติกส์ นักการตลาด ฯลฯ ในขณะที่ประเภทงานที่ต้องทำซ้ำๆ ซากๆ อย่างในสายพานการผลิตปัจจุบันก็จะค่อยๆ หายไป (ก็ถ้าหากเราไม่ต้องการหมุด ลิ่ม น็อต มาประกอบเป็นตัวสินค้าแล้ว เราจะต้องการคนตอกไปอีกทำไมล่ะ?)
การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะแต่กับกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่หลายๆ ธุรกิจที่เคยย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่ “ค่าแรงถูก” ก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะในอนาคต “ค่าแรง” จะไม่ได้ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของธุรกิจแล้ว การผลิตแบบ Offshore จะค่อยๆ ย้ายฐานกลับมาสู่ตลาดหลักที่แท้จริงของตน (พูดง่ายๆ ก็คือกลับมาผลิตในประเทศที่ร่ำรวยนั่นแหละ) แต่นี่ไม่ได้เป็นเพราะค่าแรงในจีน เวียดนาม ศรีลังกา ฯลฯ จะถีบตัวสูงขึ้นมากหรืออะไร แต่เป็นเพราะภาคการผลิตยุคใหม่นั้นจำเป็นจะต้อง “อยู่ใกล้กับลูกค้าตัวจริง” ให้มากที่สุด เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่ธุรกิจจะปรับตัวตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้นั่นเอง
สินค้า บริการ และธุรกิจวิถีใหม่
จะว่าไปแล้ว ฝ่ายผู้บริโภคเรานี่แหละคือคนที่จะได้เปรียบที่สุดจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตนี้ เพราะเราคงไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก ที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่เราพอใจยิ่งขึ้น ส่งถึงมือเร็วขึ้น และยังอยู่ในราคาที่เราพอใจด้วย คนที่จะเดือดร้อนมากเป็นพิเศษน่าจะเป็นภาครัฐ หรือคนที่ต้องบริหารเศรษฐกิจระดับชาติเสียมากกว่า เพราะคนพวกนี้มักจะมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค ต้องคอยปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ให้ถูกพวกสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ มาสั่นคลอนบัลลังก์ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าหลายๆ รัฐบาล ของหลายๆ ประเทศ พยายามให้ความช่วยเหลือ “อุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ภายในประเทศอย่างมาก (บางทีก็มากจนเกินงาม) เพราะเขามัวแต่หลงคิดและยึดติดอยู่กับอุดมคติเก่าๆ ว่าภาคการผลิตขนาดใหญ่นั้นสำคัญที่สุด อย่างไรเสียก็จะทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศ ไม่มีทางที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะมาเทียบชั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น “ภาคบริการ” หรือ “ภาคการเงิน” ที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม
ซึ่งนี่ถือเป็นมายาคติที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมาก เพราะทุกวันนี้เส้นแบ่งระหว่าง “การผลิตสินค้า” และ “การบริการ” นั้นแทบจะไม่มีอยู่จริงแล้ว ดูอย่างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องยนต์ไอพ่น (สำหรับเครื่องบิน) ของ Rolls-Royce ที่ทุกวันนี้ก็ได้ปรับโมเดลธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ขาย มาเป็นผู้ให้เช่าเครื่องยนต์อย่างเต็มตัว Rolls-Royce หันมาคิดค่าบริการจากลูกค้าตาม “จำนวนไมล์” ที่เครื่องยนต์ของพวกเขาถูกใช้งานไป และในขณะเดียวกันก็มอบบริการด้านการดูแล-ซ่อมบำรุง ให้กับลูกค้าตลอดอายุการใช้งานเป็นสิ่งตอบแทนด้วย ซึ่งการเปลี่ยนจุดยืนครั้งสำคัญนี้ได้ทำให้ธุรกิจของ Rolls-Royce กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนท้องฟ้า แถมยังเป็นโมเดลที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจในระยะยาว มั่นคงยิ่งกว่าในอดีตที่ผลิตและขายอย่างเดียวเสียอีก
รัฐบาลของหลายๆ ชาติอาจจะยังปรับตัวได้ช้ากับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ (ประเทศไทยคงไม่ต้องพูดถึง) แต่มันก็ถึงเวลาแล้วมั้ยที่เราทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ฯลฯ จะต้องหยุดวิ่งเป็นหนูติดจั่น และหันมาปรับปรุงทัศนคติ-เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันอย่างจริงจังเสียที อาจจะเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานสุดๆ ของสังคมก่อน อย่างเช่น เรื่องการศึกษา (ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน) หันมาสนับสนุนการสร้างบุคคลากรและแรงงานยุคใหม่ที่จะมีทักษะและความรู้ที่ตอบโจทย์โลกใบใหม่ได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการเริ่มต้นกำหนดกฏเกณฑ์การลงทุนและการดำเนินธุรกิจให้เปิดกว้างสำหรับคนทุกชนชั้น สร้างกรอบกฎหมายให้มีความยุติธรรม ฯลฯ
…แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “คนพันธุ์ใหม่” ที่จะสร้างชาติสร้างพลังให้กับสังคมที่เขาอยู่นั้นด้วยตัวเอง
by : วิสาข์ สอตระกูล
เครดิตข้อมูล : the economist
เครดิตภาพ :
daniloz.com
eden.uktv.co.uk
industrie-competitivite.com
commons.wikimedia.org
heavy.com
invisibleline.it