แกะกล่อง+รีวิว Form2 / Form Wash / Form Cure

แกะกล่อง+รีวิว  Form2 / Form Wash / Form Cure

หากถามถึงเครื่องพิมพ์ ระบบเรซิ่น น้อยคนจะไม่รู้จักเครื่อง Form2 จาก Formlabs บทความนี้เราจะมาแกะกล่องเครื่อง Form2 เครื่องพิมพ์ 3มิติขึ้นรูปจากน้ำเรซิ่น SLA, Form Wash เครื่องล้างชิ้นงานที่พิมพ์เสร็จ, Form Cure เครื่องอบชิ้นงานด้วยแสง UV ทำให้ชิ้นงานแข็งแรง คงรูป

สรุปเครื่องอย่างง่ายๆ

Form2 เครื่องพิมพ์ ขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการกวาดเลเซอร์ ลงบนน้ำยาเรซิ่น ทำให้ชิ้นงานที่ออกสวย ละเอียด (เนื่องจากจุดของแสงเลเซอร์เล็กมาก) ที่สำคัญที่สุดเครื่องนี้มีเรซิ่นให้เลือกหลากหลาย เช่น Standard Resin เน้นความสวยงาม และราคาประหยัด, Flexible Resin ชิ้นงานที่พิมพ์ออกมามีความยืดหยุ่น คล้ายยาง, Tough Resin ชิ้นงานที่ได้ออกมาจะมีความแข็งแรงสูง สามารถนำไปใช้งานเชิงกล เจาะสง่าน ขันสกูร ใช้งานเชิงกลได้, Wax Cast Resin เพื่อพิมพ์แล้วสามารถเอาไปหล่อโลหะได้ เหมาะกับการทำงานเครื่องประดับ Jewelry , Dental Model Resin เรซิ่นที่ไว้พิมพ์ชิ้นงานทางทันตกรรมได้

Form Wash (ซื้อเพิ่ม) เครื่องล้างทำความสะอาดชิ้นงานอัตโนมัติ สามารถตั้งเวลาได้ ทำงานโดยเราใส่ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (IPA) ลงในเครื่อง แล้วตั้งเวลาการทำงาน เครื่องจะจุ่มชิ้นงานลงใน IPA และจะมีมอเตอร์ปั่นให้แอลกอฮอล์ล้างชิ้นงานอัตโนมัติ เมื่อล้างเสร็จเครื่องดึงชิ้นงานมาสะเด็ดน้ำ IPA อัตโนมิต ลดเวลาการทำงานและความสกปรก เลอะเทอะ

Form Cure (ซื้อเพิ่ม) เครื่องอบ UV สามารถตั้งเวลาและอุณหภูมิได้ เมื่อล้างชิ้นงานเสร็จ สามารถเอาชิ้นงานเข้ามาในเครื่องอบ UV นี้ ทำให้ชิ้นงานแข็งแรงและสร้าง Bond สมบูรณ์ขึ้น (เมื่อพิมพ์เสร็จชิ้นงานที่ขึ้นรูปจากแสงเลเซอร์จะคงตัวหรือมีพันธะที่ 50-70% จึงควรเอามาอบ UV ให้ชิ้นงานสร้าง Bond เต็มที)

รูปแสดง Form2, Form Wash, Form Cure ตามลำดับ

จำเป็นต้องมี Form Wash กับ Form Cure หรือไม่?
ตอบว่าไม่จำเป็นต้องซื้อ Form Wash หรือ Form Cure ก็สามารถทำงานได้ปกติ การซื้อมีสองเครื่องดังกล่าวจะช่วยทุ่นแรง และ ทำให้การทำงานง่ายขึ้น // หากไม่มี Wash และ Cure เราก็สามารถใช้ชุด Finish Kit ที่แถมมากับเครื่องได้ เมื่อล้างเสร็จก็สามารถใช้หลอด UV ทั่วไปในการอบชิ้นงานได้เช่นกัน

แกะกล่อง
เครื่อง Form 2, Wash, Cure แพคมาค่อนข้างดีมีโฟมปิดหัว-ท้าย เครื่องมีนน.ไม่มากนักหากเทียบกับเครื่องยี่ห้ออื่นๆ
Form2 ในกล่องประกอบด้วย Quick Guide, สายไฟ, Resin Tank, Build Platform, สาย USB, แหวนปรับระดับฐาน 2 แผ่น (Finish แยกกล่องมาต่างหาก)
Form Wash ในกล่องประกอบด้วย Quick Guider, สายไฟ+ Adapter , ลูกลอยวัดความเข้มข้น IPA, เกรียง, ตัวแซะชิ้นงาน, แหนบ และ คีมตัดชิ้นงาน
Form Cure ในกล่องประกอบด้วย Quick Guider, สายไฟ+ Adapter , จานหมุน

ติดตั้งเครื่อง Form 2 ปรับระดับ การติดตั้งการใช้งานเบื้องต้น

เมื่อแกะออกจากกล่อง ควรตั้งเครื่องบนโต๊ะหรือชั้นที่แข็งแรงไม่โยกเยก เมื่อวางในตำแหน่งที่ใช้งาน ให้เราเปิดฝาเครื่อง(ส่วนที่เป็นอะคลีลิกสีส้ม) บนนั้นจะมีถาดพลาสติกสีดำปิดส่วนกระจกหน้าต่างอยู่ ให้เอาถาดสีดำดังกล่าวออกก่อนเสียบปลั๊กไฟ (หากไม่เอาออก มอเตอร์จะชน ถาดสีดำส่วนนี้) ส่วนนี้มีจุดที่ต้องระวังคือ กระจกด้านใต้ถาดดำ ส่วนนี้สำคัญมากพยายามอย่าให้มีฝุ่นลง หรือเอานิ้วไปสัมผัส เพราะเป็นส่วนที่แสงเลเซอร์จะยิ่งขึ้นมาที่จุดนี้ หากกระจกดังกล่าวมัวด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้ชิ้นงานไม่สวยตามไปด้วย จากนั้นเสียบปลั๊กไฟ เครื่องจะทำการบูตขึ้นเองอัตโนมัติ ที่หน้าจอสัมผัส ให้กดไปที่ icon รูปตัวเครื่องจะแสดงสถานะของเครื่อง ว่าใช้ถาดเรซิ่นอะไรอยู่, ใช้น้ำยาเรซิ่นตัวไหนอยู่ (ซึ่งขณะนี้เราเพิ่งเปิดใช้งาน ส่วนนี้จึงขี้นสถานะว่าไม่มีถาด ไม่มีเรซิ่น)

Printer leveling บอกระดับน้ำของเครื่อง
4 จุดใต้เครื่องสำหรับปรับระดับน้ำ

ให้เรากดไปยังเมนู Printer Leveling เมื่อกด จะมีกราฟิกแสดงระดับของเครื่องพิมพ์คล้ายระดับน้ำ ให้เราใช้แผ่นแหวนปรับระดับ หมุนฐานให้ได้ระดับ ดังใน Video ระดับน้ำมีความสำคัญมากกับเครื่องระบบ SLA ครับเนื่องจากสารตั้งต้นเป็นของเหลวหากระดับไม่ได้ จะทำให้ Sensor วัดระดับเรซิ่นทำงานผิดปกติ และ อาจจะส่งผลกับงานพิมพ์ที่ได้ออกมา ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องควรจะปรับระดับ Printer leveling ใหม่อีกครั้ง 🙂
หมายเหตุ การเปิดเครื่องใช้ครั้งแรก หรือ พิมพ์ชิ้นงานครั้งแรก Software อาจจะแจ้งเตือนให้เรา update firmware เป็นตัวใหม่ล่าสุด

ใส่ถาดเรซิ่น (Resin Tank)

เมื่อปรับระดับฐานเสร็จ มาถึงการใช้ถาดน้ำยาเรซิ่น Resin Tank ถาดใส่เรซิ่นถูกออกแบบมาให้ใช้กับเรซิ่นหนึ่งๆเท่านั้น โดยเรซิ่นแต่ละอันจะมี Chip เป็นของตัวเอง เช่น หากเราใช้ Resin Tank กับน้ำยา Resin Standard Grey แล้วถาดนั้นๆจะถูกบันทึกลงไปใน Chip ว่าถาดเรซิ่นนี้ได้ใส่เรซิ่นสีเทาลงไปแล้ว ซึ่งก็เป็นข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน ข้อดีคือ เรซิ่นใครก็ถาดของเรซิ่นนั้นๆไปเลย ง่ายต่อการจัดการ ไม่ปะปน ข้อเสียคือ จะเปลืองถาดเรซิ่น หากใช้น้ำยาเรซิ่นหลายตัว (ตัวอย่างที่เราเทส เราใช้ Standard Clear, Standard Grey, Wax Cast และ Flexible จึงต้องใช้ถาดน้ำยาจำนวน 4 ถาด)

เมื่อแกะกล่องถาดน้ำยา Resin Tank ออกมา แกะซีลพลาสติกออก ถาดจะแบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบสำคัญ คือ ตัวถาดเองพื้นเป็นอะคลีลิกใส ขอบทุกด้านเป็นสีส้มกันแสง UV, ส่วนที่เป็นไม้ปาดเรซิ่น และส่วนสุดท้ายคือฝาปิดสีดำ ข้อระวังมีดังนี้เมื่อแกะซีลพลาสติกออก ให้ระวังอย่าเอานิ้วไปสัมผัสส่วนก้นถาด ก้นถาดเป็นส่วนให้เลเซอร์วิ่งผ่าน ไม่ควรให้มัวด้วยประการใดทั้งปวง อีกข้อคือให้เก็บฝาปิดสีดำไว้อย่าทิ้งเพราะจะได้ใช้อีกเวลาเก็บถาดเรซิ่น ใช้ปิดฝาถาดนั้นๆ (สามารถวางต่อกันเป็นชั้นๆได้)

ระวังอย่างลืมใส่ ไม้ปาดเรซิ่น
ฝาของเครื่องอย่าทิ้ง ใช้เอามาปิดและเก็บถาดเรซิ่นเป็นชั้นๆ

เวลาใส่ Resin Tank ให้มั่นใจว่าได้ใส่ถูกข้าง ใส่ให้ตรงร่องสี่ร่อง และดันเข้าไปในตัวเครื่องจะได้ยินเสียงกึก เข้าที่ อย่าลืมใส่ไม้ปาดเรซิ่น ใส่ให้ตรงร่องเช่นกัน และดันเข้าตัวเครื่อง // เครื่องจะขึ้นสถานะ “Resin Tank Inserted” เครืองจะเริ่มทำความร้อนที่ถาดให้ได้อุณหภูมิ 30-35c อัตโนมัติ (อุณหภูมิที่เหมาะในการพิมพ์)

ใส่ขวดเรซิ่น (Resin Cartridge)

เมื่อติดตั้งเครื่อง Formlabs Form2 พร้อมใส่ถาดเรซิ่นแล้ว ขั้นตอนต่อมาเป็นการใส่ขวดน้ำยา ตัวขวดจะมีลักษระเป็นทรงเหลี่ยมมีระบุว่าเป็นเรซิ่นชนิดใด lot ที่เท่าไหร่ ด้านบนมีฝาขวด ให้เปิดต่อเมื่อจะสั่งพิมพ์ ให้ปิดเมื่อต้องการเก็บ/ไม่ได้ใช้เรซิ่น(เปิดไว้แต่ไม่ใช้ จะทำให้เรซิ่นสัมผัสอากาศทำให้อายุการเก็บน้อยลง) ด้านล่างของขวดเรซิ่นจะมีพลาสติกสีเหลืองปิดช่องไหลออกของน้ำเรซิ่น ให้เอาออก จะสั่งเกตุที่ใกล้ๆกันจะมี Chip อยู่โดย Chip นี้จะถูกอ่านโดยเครื่องทำให้เครื่อง Form2 รู้ว่าเรซิ่นในขวดดังกล่าวคืออะไร เครื่องยังรู้อีกว่าเหลือเรซิ่นอยู่จำนวนเท่าไหร่

เมื่อเปิดกล่องแกะซีลออก ให้เขย่าขวดเรซิ่นก่อน ส่วนตัวเขย่าประมาณ 2-3 นาที (ไม่ได้มีเขียนไว้ให้เขย่านานเท่าไหร่) จากนั้นให้ดึงแถบพลาสติกสีเหลืองใต้ขวดพลาสติกออก เสียบขวดพลาสติกที่หลังเครื่อง และกดเปิดฝาขวดพลาสติก เมื่อใส่ขวดพลาสติกเรียบร้อย เครื่องจะรู้ว่าเราใส่เรซิ่นชนิดไหนเข้าไป

ใส่ขวดเรซิ่นที่ด้านหลังของเครื่อง
เมื่อใส่ขวดเรซิ่นเครื่อง จะแสดงสถานะ ชนิดของเรซิ่นบนเครื่อง

หมายเหตุ เครื่องอาจจะ Detect ไม่เจอขวดเรซิ่นของเรา ให้ลองถูๆ โดยใช้ยางลบ หรือ กระดาษทราบละเอียด ถูๆที่ Chip ของขวดเรซิ่น

การใช้งาน Software Preform

Software ที่ให้มากับเครื่องชื่อ Preform ทำมาค่อนข้างดี User Friendly คือเรียบง่ายมีปุ่มให้เลือกไม่มากนัก แต่ยังพอสามารถให้เราปรับแต่งได้บ้างโดยเฉพาะในส่วน Support
โดยฟังก์ชั่นการทำงานหลักๆมีดังนี้
Size ไอคอนบนสุดซ้ายมือ เป็นเครื่องมือในการปรับขนาดของชิ้นงาน เราสามารถปรับโดยลางเมาส์ หรือ พิมพ์เป็นตัวเลขใส่ลงไปก็ได้

Size เป็นเครื่องในการปรับขนาด ชิ้นงานที่พิมพ์

One Click Print ไอคอนที่สองซ้ายมือ กดคลิ๊กเดี่ยวจัดการไฟล์ให้พร้อมพิมพ์ Auto ให้ทั้งการจัด Orientation และ Support

Orientation ไอคอนทีสามซ้ายมือ เป็นเครื่องมือไว้หมุนชิ้นงานในแกนต่างๆ เลือกระนาบในการพิมพ์ชิ้นงาน

Orientation เป็นเครื่องมือในการหมุนชิ้นงาน

Support ไอคอนทีสี่ซ้ายมือ เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้บ่อยที่สุด เป็นหัวใจการพิมพ์ชิ้นงานให้สวย ประหยัด และให้แกะง่าย สามารถให้เครื่องสร้าง Auto ได้ แต่หากจะให้ดีจริงเราควรปรับแต่งเองบ้าง (การปรับแต่งเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง ไม่มีหลักตายตัว บางคนชอบ Support เล็กๆถี่ บางคนชอบ Support ใหญ่หน่อยแต่ถี่น้อยกว่า)

Support หัวใจสำคัญของ Preform เป็นเครืองมือในการสร้าง โครงสร้าง Support สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ

Layout ไอคอนที่ห้าซ้ายมือ เป็นเครื่องมือจัดการ Layout โดยเมื่อ Click Software จะทำการเรียงงานพิมพ์ให้อัตโนมัติ รวมถึงมีเครื่องเพิ่มชิ้นงที่เราจะพิมพ์ เช่นอยากจะพิมพ์งานชิ้นนี้จำนวน 3 ชิ้น ก็สามารถทำได้

Layout เป็นเครื่องมือในการ จัดวางชิ้นงาน เพิ่มจำนวนในการพิมพ์ชิ้นงาน (Duplicate)

Start a Print ไอคอนสุดท้าย ให้เราเลือกเครื่อง และ upload ไฟล์ เพื่อเริ่มพิมพ์

Start a print เป็นคำสั่งในการเลือกเครื่อง และ upload ไฟล์ไปยังเครื่อง

หมายเหตุ สำหรับการพิมพ์งานโมเดลใหญ่ๆ ควรจะทำให้กลวง และเจาะรู เพื่อประหยัด ไม่ต้องใช้น้ำยาเรซิ่นเยอะ อาจจะดูบทความนี้เพื่อประโยชน์ของท่านเอง >>เทคนิคประหยัดเรซิ่นกว่า 50% ในการพิมพ์ DLP/SLA 3D Printer<<

งานที่ได้จากการพิมพ์

งานที่ได้จากการพิมพ์ พูดได้ว่าน่าประทับใจ แม้จะไม่ได้สวยกริบเหมือนเครื่องระดับอุตสาหกรรม งานที่ได้จาก Form2 ก็ถือว่าสวยเนียน ที่สำคัญมากที่สุดคือ งานที่พิมพ์แทบจะไม่เคยเสียเลย หากไม่ได้เกิดจากการ Set ค่าผิดหรือตั้ง Support น้อยเกินไป เครื่องสร้างออกมาได้ดี Software ฉลาด User Friendly

จะสังเกตุว่าประมาณ 15-20 ชั้นแรกเครื่องจะพิมพ์ช้า-ช้ามากๆ (เข้าใจว่าเป็นความตั้งใจต้องการให้งานติดกับฐานพิมพ์ เลยยิ่งเลเซอร์หลายรอบมากๆ) หลังจากพิมพ์ 15-20 ชั้นแรกเสร็จก็จะเริ่มพิมพ์ปกติแล้ว ระหว่างพิมพ์เครื่องจะมีการเติมเรซิ่นไปเรื่อยๆ จากการทดลองของเราพิมพ์ชิ้นงานเป็นสิบๆครั้ง พบว่าเวลาที่คำนวนกับเวลาที่พิมพ์จริงไม่ตรงกัน มีบวกลบเป็นหลัก ชม.

เมื่อพิมพ์ออกมา ชิ้นงานจะยังเปื้อนน้ำเรซิ่นอยู่ ต้องทำการล้างออก

เมื่อพิมพ์เสร็จ นำชิ้นงานออกจากเครื่อง เราเอาไปทำความสะอาดต่อใน Isopropyl Alcohol หรือ IPA หากใครซื้อ Form Wash เพิ่มก็สามารถใช้ได้เลย หากใครซื้อเครื่อง Form2 เฉยๆก็ใช้ Finish Kit ที่แถมมาให้กับเครื่องทำความสะอาดชิ้นงาน

 

สรุป

หากใครกำลังมองหาเครื่องพิมพ์ ระดับ Pro-sumer (ระดับระหว่าง Professional กับ Consumer) Form2 จาก Formlabs เป็นเครื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นอันดับต้นๆ เครื่องออกแบบมาดี ใช้งานง่าย คิดเผื่อให้ทุกคนใช้ได้ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากนัก Software ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย รวมถึงยังสามารถปรับแต่งค่าการพิมพ์ได้ เครื่องมีการน่าเชื่อถือสูง อัตราการพิมพ์สำเร็จสูง เครื่องนี้จึงเหมาะกับบุคคลธรรมดา ศิลปิน นักวิจัย และร้านที่รับจ้างพิมพ์ชิ้นงาน แม้ว่าจะราคาสูงกว่าเจ้าอื่นๆในท้องตลาด แต่คุณภาพที่ได้ถือว่าค่อนข้างคุ้มค่า

เรื่องระยะยาว Formlabs ได้วิจัยและพัฒนาเรซิ่น มีการปรับปรุงคุณภาพขึ้นมาเรื่อยๆจากไม่กี่ชนิดตอนเริ่มต้น ปัจจุบันมีมากกว่า 10 กว่าชนิด ครอบคลุมในการใช้งาน ด้านศิลปะ วิศวะกรรม ทางการแพทย์ ทางทันตกรรม ทาง Jewelry

ตัวอย่างในภาพ จะเป็นงานพิมพ์ด้วยเรซิ่นใส และ เรซิ่นยืดหยุ่น

ข้อดี
1. เครื่องสวยออกแบบมาดี ใช้งานง่าย
2. พิมพ์ได้ใหญ่ 145x145x175mm
3. โอกาสการพิมพ์สำเร็จสูง แม้ไม่เคยใช้งานมากก่อน
4. เรซิ่นให้เลือกมากมาย ครอบคลุมการใช้งานหลากหลาย
5. มีระบบเติมน้ำเรซิ่น

ข้อด้อย
1. ใช้เวลาในการพิมพ์นาน กว่าระบบ DLP

ข้อมูลอื่นๆ

มินิรีวิว Form Wash
มินิรีวิว Form Cure