3D Marker คืออะไร? ใช้กับ 3D Scanner อย่างไร? EP1

3D Marker คืออะไร? ใช้กับ 3D Scanner อย่างไร? EP1

หลักการของ 3D scanners

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสแกน 3D ว่ามันทำงานอย่างไร เครื่องสแกน 3D เริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยเริ่มจากเครื่องสแกนแบบ structured light (ฉายแสงเป็นตาราง)จากนั้นจึงค่อยเป็นเครื่องสแกนแบบเลเซอร์แบบพกพา เครื่องสแกนทั้งหมดอาศัยการสะท้อนแสงจากพื้นผิววัตถุ พร้อมกับกล้องถ่ายภาพเพื่อสร้างรูปร่าง 3 มิติ ที่สามารถนำไปใช้งานวิศวกรรมย้อนกลับ หรือการวัดสอบเทียบ เทคโนโลยีที่แตกต่างกันของเครื่องสแกน 3 มิติ อาศัยการกำหนดตำแหน่งบนวัตถุ เพื่อช่วยให้ซอฟต์แวร์เชื่อมต่อภาพจากเครื่องสแกนเข้าด้วยกันเป็นชุดข้อมูลที่สอดคล้องกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเพิ่มจุด markers (หรือบางคนเรียกว่า targets) ช่วยให้เครื่องสแกนกำหนดตำแหน่งข้อมูลพื้นผิวในแบบ 3 มิติได้ถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือ Markers คือจุดอ้างอิงให้เครื่องสแกนทำงานได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วต้องมี markers อย่างน้อย 3 จุดในภาพแต่ละเฟรมเพื่อจัดตำแหน่งอ้างอิง 3 มิติ แต่โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้มี 4-5 จุดเพื่อความแม่นยำที่ดีขึ้น จุด marker ยังช่วยให้ภาพแต่ละเฟรมเรียงกันอย่างถูกต้องเพื่อเพิ่มความแม่นยำ เครื่องสแกน 3 มิติระดับอุตสาหกรรมบางเครื่องใช้วิธีการอื่นๆ ในการวางตำแหน่งเครื่องสแกน เช่น การ tracking ด้วยแสงธรรมชาติ หรือแลงเลเซอร์ แต่โดยปกติแล้ว วิธีการเหล่านี้จะมีความแม่นยำน้อยกว่าการสแกนด้วย markers

Structured Light Scanning

ชนิดของ Markers

  1. Retro-reflective หรือแบบสะท้อนแสง เป็นแบบเดียวกับเครื่องหมายจราจร ข้อดีคือสามารถช่วยให้เครื่องสแกนมองเห็นได้ชัด แม้แต่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างมาก ๆ ในส่วนที่เป็นสีขาวจะประกอบด้วยเม็ดแก้วเล็ก ๆ (Glass Beads) ทำหน้าที่สะท้อนแสงได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปจะใช้กับเครื่องแบบถือด้วยมือ (hand-held laser scanners) และเครื่องระบบ photogrammetry
  2. Black and white หรือแบบสีขาวดำ ไม่มีสารสะท้อนแสง มักจะเป็นการใช้กับเครื่องสแกนแบบ structured light และ บางระบบของ photogrammetry โดยจะมีการเคลือบสารกันแสงสะท้อนไว้ด้วย
ชนิดของ Markers

ขนาดของ Markers! เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องใช้ Markers ขนาดไหน?

ง่ายมากก็ดูว่า Markers ที่แถมมาในเครื่องสแกน 3 มิติที่ซื้อมาเป็นขนาดเท่าไหร่ หรืออาจจะเช็คกับคู่มือการใช้งานประจำเครื่องก็ได้ เพราะเครื่องสแกน 3 มิติแต่ละเครื่องจะใช้ Markers ไม่เหมือนกัน บางเครื่องอาจใช้ได้หลายขนาด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นแบบ Retro-reflective ขนาด 6 ม.ม.

Marker ของ Shining 3D

เมื่อไหร่ที่จะต้องใช้ Markers

  • เมื่อเกิดความยากลำบากในการปะติดปะต่อข้อมูลระหว่างการสแกน บางครั้งการสแกนวัตถุที่มีพื้นเรียบที่กว้าง ๆ เช่นฝากระโปรงรถ โต๊ะประชุม เครื่องสแกนจะไม่สามารถตัดสินได้ว่าเฟรมปัจจุบัน กับเฟรมก่อนหน้าจะมีจุดอ้างอิงตรงไหน ทำให้ข้อมูลขาดตอน เกิด tracking lost
  • เมื่อเกิดความยากลำบากในการสแกนวัตถุขนาดใหญ่ ในการสแกนวัตถุที่ใหญ่มาก ๆ เมื่อสแกนไปสักพักหนึ่งงานที่สแกนจะบิดเบี้ยว เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อนสะสม
    ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่เราต้องใช้ Markers มาช่วยในการสแกน

การใช้งาน Markers

Markers ที่จำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นสติ๊กเกอร์เกือบทั้งหมด จะมีบางยี่ห้อที่เป็นแม่เหล็ก การใช้งานจะติด Markers เหล่านี้ลงบนวัตถุที่ต้องการสแกน และควรติดพื้นที่รอบ ๆ ด้วยเช่นกัน ตำแหน่งในการติดจะติดแบบสุ่ม เป็นกลุ่ม ๆ ไม่ให้รูปแบบซ้ำกัน เพื่อให้เครื่องสแกนรู้ว่าเป็นพื้นที่ใหม่

การใช้งาน Markers
การติด Markers ต้องติดแบบ Random

จากที่เกริ่นมายืดยาว เพื่อให้เห็นความสำคัญของ Markers แต่การติด Markers ก็มีเรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือราคาของ Markers เพราะดวงหนึ่งก็หลายบาทอยู่ ในการใช้งานก็ต้องติดค่อนข้างมาก มันอาจจะใช้ซ้ำได้ แต่ก็ไม่กี่ครั้งกาวก็จะเสื่อมไป ดังนั้น 3DD ขอเสนอหนทางที่จะช่วยประหยัดเงินได้ โดยการใช้ Marker tower

Markers จำนวนมากที่ต้องติดบนวัตถุ เป็นค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงได้โดย Marker tower

Marker tower

Marker tower ทำง่าย ๆ โดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งหาดาวน์โหลดได้จากเว็บแชร์โมเดลต่าง ๆ เช่น Printable หรือ MakerWorld

ติดสติ๊กเกอร์ markers
หลายแบบ หลายขนาด
ติดแม่เหล็ก

Marker tower สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ มีหลายรูปแบบแล้วแต่ลักษณะของงาน มีทั้งแบบติดแม่เหล็ก และเป็นฐานตั้ง บางแบบก็เป็นโมดูลต่อกันได้หลายรูปแบบ ลองใช้กันดู แล้วจะเห็นได้ว่าการสแกนง่ายขึ้นเยอะ และแม่นยำขึ้นกว่าเดิม ยิ่งถ้าเครื่องสแกนของคุณมีฟังก์ชั่น Global marker ด้วยก็จะสะดวกมากขึ้นอีก

บทความต่อไปเราจะมาลองสแกนโดยใช้ Markers เหล่านี้กัน จะได้เห็นว่ามันช่วยได้จริงหรือไม่ อย่าลืมติดตามนะครับ